ผู้หญิงเมื่อต้ังครรภ์ท้องแรกในขณะที่ทำงานประจำอยู่ อาการแพ้ท้อง และความเหนื่อย จะทำให้เราคิดว่าเราควรลาออกมาเป็นแม่บ้านดีไหม เพราะปัจจัยแวดล้อมของแต่ละบ้าน แต่ละครอบครัวไม่เหมือนกัน เราจะเอาชีวิตของตัวเองไปตัดสินคนอื่น หรือเอาชีวิตของคนอื่นมาตัดสินตัวเองไม่ได้ ต้องทำทุกวันให้ดีที่สุด
แม่บ้านฟูลไทม์ ต้องทำอะไรบ้าง
- ทำกับข้าว หาอาหารให้คนในครอบครัว
- ทำความสะอาดบ้าน
- ดูแลความเป็นอยู่ของลูก
- ดูแลการศึกษาของลูก
การเป็นแม่บ้านฟูลไทม์ มีหน้าที่สำคัญ 2 อย่าง คือการจัดการเรื่องในบ้านให้เรียบร้อย และรับส่งลูกไปโรงเรียน ในช่วง 3 ปีแรกการดูแลลูกนั้นสำคัญที่สุด ทั้งเรื่องอาหารการกินและการใช้เวลาส่งเสริมพัฒนการพื้นฐาน เป็นเวลาคุณภาพที่จะติดตัวเป็นนิสัยของเด็กตลอดไป
แต่ถ้าหากมีลูกหลายคน ก็ต้องบวกเพิ่มการทุ่มเทใน 3 ปีแรกเข้าไป ถ้าวางแผนมีติดๆ กันก็จะได้เลี้ยงดูทีเดียว ใช้สิ่งของและเวลาทุ่มเทไปกับลูก
จัดแบ่งเวลาทำงานบ้านบ้าง

อยากให้เพื่อนๆ ลองเข้าไปอ่านเรื่องการลาออกเป็นแม่บ้าน Pantip กระทู้นี้ แม้ว่าจะเป็นคุณสามีที่เขียนเล่าไว้นานแล้วตั้งแต่ปี 2557 แต่ก็เป็นตัวอย่างความคิดเห็นที่ดีของบุคคลที่เป็นผู้นำครอบครัว เป็นความคิดของสามีที่ทำงานคนเดียวเพื่อหารายได้ ขอเล่าให้ฟังย่อๆ ดังนี้ค่ะ
ภรรยาพอจะมีเงินเก็บ มีฐานะอยู่บ้าง แต่พอแต่งงานมีครอบครัวก็เป็นแม่บ้าน ส่วนสามีเองก็ออกไปทำงานเป็นรายได้หลักของครอบครัวในการผ่อนบ้าน ผ่อนรถ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ แต่ในกระทู้นี้ยังไม่มีลูก
ทัศนคติที่สามีเริ่มรู้สึกไม่โอเค ก็คือการที่ภรรยานอนดึก, เล่นเกม, ทำความสะอาดบ้านในช่วงเย็นซึ่งเป็นเวลากินข้าว ทำให้เวลาของทั้งสองไม่ตรงกัน และอยากให้ภรรยาออกไปทำงาน ในส่วนนี้สามีมองว่าเป็นความบกพร่องอย่างหนึ่งทำให้ไม่อยากกลับมาอยู่บ้าน แม้สามีมีรายได้เยอะแต่เงินเดือนก็ยังไม่พอใช้ในบางเดือนต้องหยิบยืมภรรยาเพื่อจ่ายค่าน้ำค่าไฟบ้าง
คนที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่บอกว่าให้ทั้งสองลองมีลูก เผื่อจะปรับตัวให้อะไรๆ มันดีขึ้น
อีกกระทู้ Pantip ที่น่าสนใจคือ แม่บ้านที่สามีไม่เคยให้เงินใช้เลย ในรายละเอียดไม่ได้บอกว่าทำไม และภรรยาก็ไม่กล้าที่จะขอ สามีมีรายได้ 50,000 บาท ต่อเดือน และมีค่าผ่อนรถ 8,900 บาท ผ่อนมอเตอร์ไซค์ 2,300 บาท ผ่อนบ้าน 5,500 บาท ค่ากินอยู่ 1,500 บาทต่อเดือน ทั้งหมดนี้ก็ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่มากหากอยู่ 2 คน แล้วยิ่งถ้ามีลูกอีก ก็ต้องมีภาระค่าเทอม และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับลูกเพิ่มเติมด้วย
จากทั้ง 2 กระทู้นี้เป็นตัวแทนสะท้อนสังคมว่า มีผู้หญิงอยู่จำนวนมาก ที่ออกมาเป็นแม่บ้าน แต่อย่างไรก็ดี มีทั้งแม่บ้านฟูลไทม์ที่ประสบความสำเร็จไม่เดือดร้อนอะไร แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่รู้สึกว่ารายได้ไม่พอ
ชีวิตแม่บ้าน ภรรยาไม่ได้ทำงาน..ถามใจตัวเองว่าพร้อมไหม

จากประสบการณ์ที่ต้องไปทำงานหลังลาคลอด 3 เดือน ก็ขอใช้สิทธิ์ Work from Home ทำต่ออีก 1-2 เดือนเพราะอยากอยู่กับลูกให้นานที่สุด
ในขณะที่เราขอทำอยู่บ้าน เพื่อนร่วมงานหลายๆ คนก็คงรู้สึกว่าทำไมเราได้สิทธิ์นี้ ถ้าเป็นสังคมอื่นก็คงมองไม่ดี แต่ถ้าอยู่ในออฟฟิศที่เข้าใจ ก็จะสบายใจขึ้น
เด็กควรได้รับนมแม่ให้นานที่สุด 6 เดือน ถึง 1 ปี ในระหว่างนี้แม่เองก็ต้องกินอาหารดีๆ มีวินัยในการกินและให้นม พักผ่อนให้เพียงพอ ทำให้แม่ที่ต้องออกมาทำงานนอกบ้านรู้สึกเครียด ปั๊มนมไม่ได้ตามเป้า คนที่อยากให้นมแม่ 100% ก็รู้สึกว่าอยากลาออกมาดูแลลูกที่บ้านเข้าเต้าดีกว่า
พอพ้นระยะ 1 ปีมาได้ ลูกก็ต้องการเวลา ต้องการคนเล่นด้วย ถ้าแม่ไม่ได้อยู่ ลูกก็ต้องอยู่กับญาติหรือคนเลี้ยง ซึ่งแม่ก็อยากให้ลูกอยู่กับเรา ติดเรามากกว่าพี่เลี้ยง ถูกไหมคะ!
แต่ในความเป็นจริง เด็กจะอยู่กับแม่ได้ถึงวัยประมาณ 3 ขวบ ลูกจะต้องการเพื่อน ต้องการเข้าสังคม แม่จะไม่ใช่ทุกอย่างสำหรับเขาอีกต่อไป พอเขาต้องการเพื่อนเล่น ต้องการไปโรงเรียน แม่ก็จะเริ่มว่างมากขึ้น ณ ตอนนั้นก็จะเริ่มเกิดคำถามกับตัวเองแล้วว่า “คุณค่าของชีวิตคืออะไร
- หารายได้พิเศษเพิ่ม หรือ..
- ทำงานประจำ
คนที่ยังอยู่ในระบบงานประจำก็ไม่ต้องมานั่งนึกถึงข้อนี้ แต่คนที่ลาออกมาเรียบร้อยแล้วก็ต้องคิด 2 ทาง คือจะกลับไปสมัครงานหางานใหม่ หรือว่าหารายได้พิเศษเพิ่มด้วยช่องทางอื่นๆ
แม้ว่าสามีจะมีเงินเดือน 50,000 – 100,000 บาท ขึ้นไป สุดท้ายแล้วถ้าผู้หญิงหรือภรรยาเป็นฝ่ายต้องรอเงินสามีอย่างเดียว จากที่เราเคยอยากซื้อของบางอย่างเอง ก็จะรู้สึกอึดอัดไป และสามีเองก็จะรู้สึกว่าเราว่างเกินไป
ถ้าอาศัยอยู่ในกรุงเทพปริมณฑล การเป็นแม่บ้านอยู่บ้าน Full Time นั้นยากมากจริงๆ ค่าครองชีพสูง

ต้นเคยคิดเล่นๆ ว่าตัวเลขเงินเดือนของผู้หญิงที่ทำงานในกรุงเทพปริมณฑลต้องมีเงินเดือนเท่าไหร่ ถึงจะไม่ควรออกมาเป็นแม่บ้าน Full Time
A : ถ้ามองในระดับฐานะปานกลาง จากตัวอย่างคนใกล้ตัว สามีเงินเดือน 30,000 – 50,000 บาท ภรรยาไม่ควรออกจากงานประจำ ไม่ว่าจะเงินเดือนเท่าไหร่ก็ตาม
– เพราะว่าอนาคตไม่แน่ไม่นอน ค่าใช้จ่ายเอามาหาร 2 ตกคนละ 15,000 – 25,000 บาท ถ้าไม่ได้มีบ้านหมดภาระผ่อน ก็ถือว่าพอดีตัว ภรรยาอาจจะต้องยอมทนทำงานไปก่อน ระหว่างลูกเล็กก็จ้างเลี้ยงหรือให้ญาติมาช่วยเลี้ยง ให้ค่าตอบแทน 5,000 – 10,000 บ.
B : ถ้าสามีเงินเดือน 50,000 – 100,000 บาท ภรรยาเงินเดือน 15,000 – 20,000 บาท ต้องคิดแล้วว่าจะลาออกมาเป็นแม่บ้านหรือทนทำต่อ
– เนื่องจากสายงานของแต่ละคนไม่เหมือนกัน คุณแม่ลองประเมินสถานการณ์ตัวเองว่าถ้าเราทำงานต่อไปอีก 5 ปี เงินเดือนจะเป็นเท่าไหร่ ถ้าลาออกมาอยู่บ้านหางานพิเศษได้เงินพอๆ กับไปทำงานประจำเงินเดือน 15,000 บาท แล้วได้เวลาอยู่กับลูกมากกว่า และมีช่องทางหาเงินได้มากกว่า ก็อาจจะเอามาเป็นประเด็นน่าคิด
แต่หากคุณแม่เงินเดือน 15,000 – 20,000 บาทอยู่ในตำแหน่งพนักงานเพิ่งเริ่มต้นทำงาน แต่มีทิศทางว่าเงินเดือนจะขึ้น มีสวัสดิการที่ดี มีความมั่นคง ก็อาจจะต้องอยู่ต่อไปเรื่อยๆ เพื่อรออัพ เงินเดือน
B : ถ้าสามีเงินเดือน 100,000++ บาท ภรรยาเงินเดือน 30,000++ บาท
– บางคนมองว่าเงินเดือนสามีภรรยารวมกันเกณฑ์นี้ สามีเลี้ยงภรรยาคนเดียวก็ไว้ ควรค่าแก่การออกมาเป็นแม่บ้าน Full Time แต่จากมุมมองของต้นมองว่า ยิ่งสามีภรรยาเงินเดือนสูง ยิ่งไม่ควรให้ภรรยาออกจากงานประจำ เพราะค่าการศึกษาของฝ่ายภรรยากว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เชื่อว่าพ่อแม่ภรรยาส่งกันมามาก
เงินเดือนของภรรยา เรียกว่าเป็นค่ากตัญญู ภรรยาไม่ได้ดูแลสามีและลูกเพียงอย่างเดียว ความรู้ความสามารถของเขาหาได้มาก และอาจมากกว่านี้ ระหว่างที่มีแรงหาได้ และรับมือเลี้ยงลูกได้ด้วยพร้อมๆ กัน ภรรยาจะยิ่งช่วย Support สามีได้ทั้งสถานะการเงิน และความคิด
ความคิดของภรรยาที่ได้เติบโตตามวัยพร้อมกับภาระหน้าที่การทำงาน จะช่วยแก้ปัญหา และพูดคุยกับสามีได้อย่างเข้าใจ และยิ่งทั้งสองฝ่ายมีรายได้ใกล้เคียงกัน จะยิ่งคุยกันรู้เรื่อง ยิ่งเสริมกันไป
เนื่องจากเราไม่รู้ว่าอีก 10 – 20 ปีข้างหน้า อนาคตทางเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร ไม่มีใครตอบคุณแม่ได้เองทั้งหมดว่าควรจะออกจากงานประจำตอนนี้ มาเป็นแม่บ้าน Full Time ดูแลบ้าน หรือควรจะทำงานต่อไป แต่ถ้าวันหนึ่งเรารู้สึกว่าออกมาแล้วอยากกลับไปทำงาน อายุที่เพิ่มมากขึ้น กับประสบการณ์ผ่านงานที่น้อยลง มีผลต่อการคัดเลือกขององค์กรจริงๆ
ต้องยอมรับว่าผู้หญิงเราในปัจจุบันยังมีตัวเลือกการทำงานในสายงานประจำ น้อยกว่าผู้ชาย ถ้าออกมาแล้วกลับเข้าไปยาก ยังเป็นคำพูดที่จริงอยู่
..เพราะฉะนั้นตัดสินใจกันดีๆ ก่อนลาออกจากงานมาเป็นแม่บ้านนะคะ