กันยุงเด็กเล็ก ปลอดสารพิษจากวัตถุดิบในตลาดนี่เอง..
เพราะยุงตัวเดียว อาจจะพาโรคไข้เลือดออกมาได้ และเด็กเล็กก็ยังไม่สามารถเคลื่อนไหวตัวเองเพื่อสะบัดหนียุงได้ นอนกลิ้งหลุน ๆ เป็นเหยื่อให้ยุงตัวร้ายมันคอยตอด บรรดาคุณแม่ก็ต้องหาวิธีไล่ยุงให้กับลูก ซึ่งแต่ละบ้านก็จะมีทั้งยุงรำคาญ ยุงสวน วันนี้แม่ต้นหอมมาเอง ฟังวิธีทำมันมะกรูด / ตะไคร้หอม ไล่ยุงแบบภูมิปัญญาชาวบ้านมาจากผู้ใหญ่ในบ้าน แล้วเอามาทำเอง ตอนจบของบทความนี้แม้ว่าจะไม่ได้น้ำมันมะกรูดหอม ๆ สมบูรณ์เหมือนที่หวังไว้ แต่ว่ามันกันยุงได้จริงแฮะ.. จึงขอนำวิธีทำมาเล่าให้ฟังค่ะ
หามะกรูดตะไคร้ จากตลาด
เริ่มต้นด้วยการบอกแฟนให้ตื่นแต่เช้าไปตลาด สามีก็ไปเหมามะกรูดมาให้ 2 กระจาด ราคาประมาณ 80 บาท ได้จำนวนพอดีกับการสกัด 1 ครั้ง อย่าเรียกว่าการสกัดน้ำมันหอมระเหยเลยจ้าาา มันคือการเอากลิ่นมะกรูดออกมาจากลูกมากกว่า อันนี้ต้นทำผิดวิธีไปหน่อย ไม่ควรผ่าลูกมะกรูด คือตอนแรกกลัวว่าจะไม่มีน้ำออกมาเยอะ พอผ่าแล้วมันมีน้ำออกมาจากลูกมะกรูดซึ่งส่วนนั้นไม่ได้กลิ่นน้ำมันมะกรูดเท่าไหร่ แต่สุดท้ายมันก็กันยุงพอได้ ก็หยวน ๆ ไป
เตรียมล้างมะกรูดให้สะอาด
อย่างที่บอกไปตอนแรกว่าไม่ควรผ่า แต่ต้นผ่าไปแล้ว ที่เอารูปมาลงเพราะจะบอกว่า ตอนเราผ่า กลิ่นมะกรูดมันฟุ้งเต็มห้องนอนเลยกลายเป็นว่า มะกรูดดิบมันเห็นผลไล่ยุงได้จริงตั้งแต่ยังไม่สกัดเลยจ้า หากบ้านใครปลูกมะกรูดอยู่แล้ว เอาลูกมันมากรีด ๆ ถู ๆ ให้น้ำมันผิวมะกรูดออก แล้วเอามาป้ายเท้าเด็กไว้ป้องกันยุงยังได้เลย
เตรียมหม้อกับชาม ใหญ่พอสมควร
ต้นใช้ชามเซรามิกนะคะ เวลาต้มมันจะได้ไม่กระเด็นกระดอนอยู่ในหม้อ และปลอดภัยทนความร้อนกว่าพลาสติกอีกด้วย ดูจาก Youtube เขาบอกว่าให้วางไว้เหนือลูกมะกรูด
อันนี้เป็นน้ำของลูกมะกรูดซึ่งเหมาะกับการทำต้มยำมากกว่าเอามาทาผิวนะคะ สีเดิมมันจะขุ่น ๆ แต่หากต้มแล้วน้ำในถ้วยควรจะออกใส ๆ กว่า
ต้นเอามะกรูดไปยัดไว้ในช่องว่างระหว่างหม้อกับชาม เพื่อให้ชามลอยมาเหนือมะกรูด ก่อนจะเอาผ้าขาวบางปิดไว้ไม่ให้ไอน้ำมันออกมา ดูจาก Youtube เขาบอกว่าให้น้ำเดือด 30 นาทีค่อยปิดเตาแก๊ส
ตั้งหม้อไว้ 30 นาที ปิดผ้าขาวบางไม่ให้รั่ว ด้วยการใช้หม้อหรือจานวางทับไว้ด้านบนหนัก ๆ เข้าไว้จะได้ไม่ร่วง
จับเวลานะ เข็มยาวชี้เลข 4 ก็กะไว้สักเลข 9 หรือ 10 ค่อยไปปิดเตา แต่หากใครรู้สึกว่า การต้มนั้นทำให้น้ำเดือดเหือดไปบ้างแล้วก็ไปปิดเตาเลยก็ได้ค่ะ
ที่ต้องตั้งทิ้งไว้ ก็เพราะมันร้อนนี่เอง ลุ้นมากว่าหากเปิดฝาออกแล้วจะได้น้ำมันมะกรูดสวย ๆ ใส ๆ เหมือนใน Youtube หรือเปล่า?
ผลงานที่ออกมาจ้า.. น้ำเต็มชามเลย อันนี้ต้นทำผิดวิธี ต้องไม่กรีดลูกมะกรูด ควรต้มทั้งลูก น้ำมันจะใสกว่านี้ แต่ลองเอาน้ำนี้ไปแบ่งใส่ขวด มันก็กันยุงได้ประมาณ 1 ชั่วโมงเมื่อทาผิว แต่หากจะเพิ่มประสิทธิภาพตอนกรอกใส่ขวดขณะน้ำร้อน ๆ นี้ ใส่การบูรไปด้วยได้เลยจ้า (ใส่พิมเสนด้วยก็ได้แต่มันจะแพงหน่อย และไม่ควรใช้ทาผิวเด็ก ใช้สเปรย์ไว้รอบ ๆ ตัวเด็กก็ได้)
ซากมะกรูดเอาไปต้มยำทำแกงอะไรไม่ได้เลยนอกจากเอาไปเป็นปุ๋ย คือกลิ่นมันออกหมดเกลี้ยงจนไร้คราบมะกรูดเดิมอยู่ ก็เอาไปโยนเป็นปุ๋ยแก่ต้นไม้ใหญ่ไปเลย
คือนอกจากมะกรูดแล้ว เอาตะไคร้มาลองต้มด้วย แต่ตะไคร้ก็ซื้อมาผิดอีก “ตะไคร้หอม” กับ “ตะไคร้บ้าน” มันไม่เหมือนกันนะจ้ะพี่น้อง ตะไคร้หอมหาซื้อยากพอสมควร มันจะมีตามบ้านสวนที่ปลูกไว้กันเอง กลิ่นมันก็จะผิดกัน การต้มตะไคร้ครั้งนี้ถือว่าไม่ประสบความสำเร็จ เลยต้มอาบบำรุงผิวเสียเลย
คืออยากจะบอกว่าวิธีการนี้ เอาน้ำมะกรูดผสมการบูร ไปสเปรย์ไว้รอบ ๆ เปล หรือที่เด็กนั่งอยู่ก็จะไล่ยุงได้ประมาณหนึ่ง สุดท้ายนี้ หากคุณต้องการทำน้ำมันมะกรูดสกัดเอง ควรใช้มะกรูดต้มทั้งลูกโดยไม่ปอกเปลือกหรือหั่น และอาจลดเวลาการต้มลงหน่อย ก็จะได้น้ำมันมะกรูดที่ใส ๆ กว่านี้ และสามารถนำไปทาผิวเด็ก ๆ ได้ โดยลดอาการยุงตอม ประมาณครั้งละ 1 – 2 ชั่วโมงต่อครั้ง ด้วยความที่เราไม่ได้ใส่สารกันบูด ตัวน้ำที่สะกัดมาได้อาจบูดเสียได้ ควรเก็บในตู้เย็น เก็บได้ไม่เกิน 2 สัปดาห์
ย้ำเคล็ดลับ
- ใช้เปลือกมะกรูดอย่างเดียวได้หากมีเวลาฝาน (และไม่ควรผ่ามะกรูดแบบต้น)
- ตัวน้ำที่ได้จากการกลั่นนี้ เมื่อเย็นแล้วเอามาทาผิวเด็กได้ปลอดภัยมาก ๆ
- เนื่องจากมีน้ำเป็นส่วนประกอบ มันมีอายุการเน่าเสียบูดตามธรรมชาติ อยู่ได้ประมาณ 1-2 สัปดาห์
- ใส่การบูร หรือ พิมเสน ช่วยได้ แต่ไม่ควรเอามาใช้ทาผิวทารก
- เพื่อการได้ผลที่ดี ควรเก็บห้องไม่ให้มีของรก และกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง
หากคุณแม่ลองใช้วิธีนี้ไล่ยุงแล้วได้ผลหรือไม่ได้ผลอย่างไร ทักมาบอกกันได้ที่ Facebook ได้เลยนะคะ >> https://www.facebook.com/tonhomsiwika