เด็กแรกเกิดเข้าตู้อบ กับ อบตัวเหลือง ไม่เหมือนกัน
ตัวเหลือง มีสาเหตุมาจากร่างกายของเด็กทารกขับสารที่เกิดจากการแตกตัวของเม็ดเลือดแดงออกไม่หมด สารนี้มีชื่อว่า บิลิรูบิน (Bilirubin) ซึ่งหาเจาะเลือดเด็กแล้วมีค่านี้เกิน 12 คุณหมอจะไม่ให้ออกจากโรงพยาบาล (แล้วแต่ว่าคุณหมอกุมารแพทย์เคร่งแค่ไหน)
วันที่ 4 ของการนอนพักฟื้นผ่าคลอดของคุณแม่ ต้องรอผลตรวจเลือด หลังจากทารกมีอายุ 3 วัน ดังนั้นชั่วโมงที่ 72 ของแป้งหอมก็ต้องเจ็บตัวถูกเจาะเลือดครั้งที่ 2 (ครั้งแรกเจาะที่เท้า หลังคลอดเพื่อเอาไปตรวจความแข็งแรงของเลือด) เพื่อเอาไปวัดหาค่าบิลิรูบิน และ ตรวจความเข้มข้นของเลือด
ของแป้งหอมนั้นมีค่าตัวเหลืองอยู่ที่ 16.5 คุณหมอบอกว่าค่อนข้างสูงมาก และให้อบส่องไฟ 1-2 วัน ซึ่งก็ต้องรอผลกันทั้งเย็นวันเสาร์ และวันอาทิตย์เช้า คุณหมอก็บอกว่าต้องอยู่อบถึงห้าโมงเย็น
หากพ่อหรือแม่มีประวัติเกี่ยวกับเลือดจางหรือเป็นพาหะธาลัสซีเมียอยู่แล้ว ลูกมีโอกาสที่ต้องถูกอบตัวเหลืองอยู่แล้ว โดยใช้วิธีการส่องไฟ ด้วยแสงที่เรามองเห็นเป็นสีม่วงนี้ถูกจัดค่าให้เสถียรกว่ารับจากแสงแดด ดังนั้นหากเอาเด็กไปตากแดดก็จะไม่ช่วยเรื่องตัวเหลือง (แต่การนำเด็กไปรับแดดตอนเช้านั้นก็มีประโยชน์ แต่แค่ไม่เกี่ยวกับเรื่องตัวเหลืองเท่านั้นเอง)
อบตู้ไฟ 2 คืน รวม 48 ชั่วโมง เป็นเวลาที่ยาวนานจริง ๆ โดยคุณพ่อคุณแม่ต้องกลับมานอนค้างที่คอนโดกัน ยังกลับบ้านไม่ได้ รอผลเลือดของแป้งหอมทุกวัน และคุณหมอนัดมาเจาะเลือดดูตัวเหลืองอีก 2 วัน เพราะตอนออกจากโรงพยาบาลแป้งหอมมีค่าเหลืองอยู่ที่ 10 ยังถือว่าสูงอยู่
กลับมานอนที่บ้าน 2 คืน ผิวของแป้งหอมคล้ำขึ้น สองคืนไม่ค่อยได้นอน เพราะว่าอากาศค่อนข้างร้อนและน้องก็ตื่นบ่อย บวกกับแม่ยังจับไม่ค่อยถนัดมือ ก็ทำให้แป้งหอมต้องเสียพลังงานเยอะ วันที่คุณหมอนัดตรวจเลือดอีกครั้งก็มีค่าเหลืองกลับมาอยู่ที่ 16.5 (วัดจากเลือด วัดจากผิวได้ 17)
แอดมิดต่ออีก 2 คืน
เมื่อได้ผลเลือดวัดค่าบิลิรูบินเรียบร้อยแล้ว คุณหมอกุมารแพทย์ก็เรียกพบผู้เขียนกับสามีด่วน เพื่อแจ้งขั้นตอนการรักษาต่อไป โดยคุณหมอแนะนำดังนี้
- สาเหตุอาจมาจากน้องดื่มนมไม่พอ ปริมาณที่เด็กต้องการต่อวันประมาณ 16 ออนซ์ขึ้นไป
- สาเหตุอาจมาจากหมู่เลือดของแม่กับลูกต่างกัน ของแม่เป็น AB ของลูกเป็น B แต่ไม่ร้ายแรงมากเท่ากับเด็กที่แม่เป็น O
- สาเหตุอาจมาจากโรค G6PD ซึ่งโรคนี้เป็นโรคที่เม็ดเลือดแดงแตกง่าย ส่งต่อทางพันธุกรรม หรือเรียกง่าย ๆ ว่าโรคแพ้ถั่วปากอ้า เป็นในเด็กผู้ขายมากกว่าผู้หญิง
- คุณหมอขอเจาะเลือดดูความเข้มข้นของเลือด (ฮีมาโตคริท) อีกรอบ เพราะวันนี้ดูเลือดค่อนข้างจาง
- คุณหมอแนะนำให้นอนส่องไฟอีก 2 คืน ให้ค่าตัวเหลืองต่ำกว่า 12 ก่อน
คือมันก็กลายเป็นความวิตกกังวลว่าเราดูแลลูกไม่ดีหรือเปล่า? ลูกถึงมีค่าตัวเหลืองสูง หรือเป็นเพราะว่าเลือดเราไม่ดีหรือเปล่า? จึงเลือดจาก หรือเป็นเพราะมีพาหะธาลัสซีเมียแฝงหรือไม่? ซึ่งคุณหมอบอกว่าจะดูได้ว่าเป็นหรือไม่เป็นธาลัสซีเมีย ต้องรอ 2 ขวบ
ผลที่ออกมาก็คือ วันแรกจาก 16.5 ลดเหลือ 13 และ วันที่สองลดเหลือ 10 เหมือนกับการค้างคืนส่องไฟรอบก่อนหน้านี้ รวม ๆ แล้วแป้งหอมโดนส่องไฟทั้งหมด 4 วัน 4 คืน จบรอบนี้คุณหมอนัดอีกทีตอนฉีดวัคซีนอายุครบ 1 เดือน ในช่วงกลางเดือนมกราคม หวังว่าคงจะไม่มีอะไรผิดปกติอีกแล้ว..
อัพเดท (1.12.2020)
หลังจากช่วงที่นัด 1 เดือนต่อจากครั้งก่อนที่เขียนนั้น แป้งหอมก็ยังตัวเหลืองอยู่ โดยคุณพยาบาลให้สังเกตจากเท้า ตัว และแขน ไม่ต้องเจาะเลือด
- ใช้วิธีจีบนิ้ว กรีดที่ฝ่าเท้า
- ดูจากฝ่าเท้า, ท้อง, ท้องแขน นัยน์ตาขาว ประกอบกัน
- สังเกตสีจะออกเหลืองๆ
วิธีแก้ไข
- คอยสังเกตอาการผิดปกติของลูก นับจำนวนฉี่ และอึ จากการเปลี่ยนผ้าอ้อม
- ปลูกลูกดื่มนมให้ครบจำนวนมื้อ
- ให้ลูกกินนมแม่ให้มากที่สุด
- แม่ต้องเลือกกินอาหารดีๆ มีประโยชน์
- แม่ดื่มน้ำเยอะๆ (ผู้เขียนดื่มน้ำขิงด้วย)
- ให้นมให้ถูกท่า หัวนม กลางนม หางนม
- ถ้าลูกยังติดเหลืองอยู่นาน หรือมีข้อสงสัยมากกว่านี้ ถามหมอ หาหมอด่วน
อ่านเรื่องราวเพิ่มเติมที่น่าสนใจอื่น ๆ ดังนี้
- [เด็กหญิงแป้งหอม] อายุ 24 ชั่วโมง
- [เด็กหญิงแป้งหอม] อายุ 48 ชั่วโมง
- [รีวิว] เปรียบเทียบราคาผ้าอ้อมเด็กแรกเกิดยี่ห้อไหนถูกสุด
- [39] รีวิว ประสบการณ์เปลี่ยนแผนหน้างานจากคลอดเอง มาเป็นผ่าคลอด
- [36] ค่าใช้จ่ายตอนเตรียมซื้อของเด็ก รวมกี่บาท? ต้องซื้ออะไรบ้าง
ด้วยความปรารถนาดีจากว่าที่คุณแม่มือใหม่ ♥
3 Comments